นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม
นโยบายสิทธิมนุษยชน

quickspace

นโยบายสิทธิมนุษยชน

บริษัท พี.ซี.ทาคาชิมา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ควิก สเปซ จำกัด และบริษัท โฟลทิลลา เทคโนโลยี จำกัด หรือ กลุ่มบริษัท P.C.GROUP มุ่งมั่นในการคำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจ ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีจริยธรรม เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน และให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนในการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ที่อาจเกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่าของกลุ่มบริษัท P.C.GROUP จึงได้จัดทำนโยบายสิทธิมนุษยชน โดยยึดมั่นและปฏิบัติตามนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ในการดำเนินธุรกิจ ที่สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนได้นำแนวทางหลักการขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (United Nations Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ข้อตกลงประชาคมโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nation Global Compact: UNGC) รวมถึงหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจ และสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของธุรกิจ

ขอบเขต

  1. นโยบายฉบับนี้ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท P.C.GROUP
  2. นโยบายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้กับ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกระดับของกลุ่มบริษัท P.C.GROUP โดยให้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน

คํานิยาม

สิทธิมนุษยชน หมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มีมาแต่กำเนิด และความเสมอภาคที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ สีผิว ภาษา เผ่าพันธุ์ หรือสถานะอื่นใด

คู่ค้า หมายถึง ผู้ขายสินค้า ผู้รับจ้าง และ/หรือผู้ให้บริการ ทั้งที่เป็นนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา แก่กลุ่มบริษัท P.C.GROUP  รวมถึงผู้รับจ้างช่วง ของผู้ขายสินค้า ผู้รับจ้างและ/หรือผู้ให้บริการดังกล่าว

แนวปฏิบัติ

เพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติทางด้านแรงงานทั่วทั้งองค์กร อีกทั้งเสริมสร้างความมั่นใจว่าพนักงานทุกคน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปฏิบัติต่อพนักงาน เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน และข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ด้วยเหตุดังกล่าว จึงกำหนดเป็นข้อปฏิบัติสำหรับกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกระดับของกลุ่มบริษัท P.C.GROUP ไว้ดังนี้

กลุ่มบริษัท P.C.GROUP มีการบริหารจัดการประเด็นเรื่อง สิทธิมนุษยชน ให้แก่ พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชนที่กลุ่มบริษัท P.C.GROUP ดำเนินการเป็นพิเศษ โดยจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนตามกรอบเวลาที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการจัดเตรียมมาตรการในการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และมาตรการเยียวยาตามสมควร โดยได้แบ่งการบริหารจัดการประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนครอบคลุมสิทธิของพนักงานของกลุ่มบริษัท P.C.GROUP สิทธิของคู่ค้า สิทธิของลูกค้า สิทธิของชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สิทธิของพนักงานของกลุ่มบริษัท P.C.GROUP 

  1. ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในทุกกระบวนการของการจ้างงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการสรรหา การจ่ายค่าตอบแทน เวลาทำงาน และวันหยุดการมอบหมายงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน การฝึกอบรมและพัฒนา การวางแผนความก้าวหน้า และในเรื่องอื่น ๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติ
  2. ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งสอดส่องดูแล เรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน และรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  3. ไม่ใช้แรงงานบังคับ แรงงานที่มาจากการค้ามนุษย์ หรือแรงงานเด็กอันมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการลงโทษเป็นการทารุณร่างกายหรือใจพนักงาน ไม่ว่าด้วยวิธีการขู่เข็ญ การกักขังหน่วงเหนี่ยว การคุกคาม การข่มขู่ การล่วงละเมิดหรือการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าในรูปแบบใดตลอดจนให้ความสำคัญต่อสิทธิของกลุ่มผู้เปราะบาง (Vulnerable Group) เช่น ผู้พิการ เป็นต้น
  4. ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย สภาพแวดล้อม ความปลอดภัยในการทำงาน และมีคู่มือในการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นสภาพการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเจ็บป่วยของผู้ปฏิบัติงาน

สิทธิของคู่ค้า

  1. ดำเนินการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากคู่ค้าของกลุ่มบริษัท P.C.GROUP รวมถึงการระบุ และประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากคู่ค้า ของกลุ่มบริษัท P.C.GROUP โดยคำนึงถึง สังคมและสิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากคู่ค้าของกลุ่มบริษัท P.C.GROUP เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความโปร่งใสในการดำเนินงาน ในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน กลุ่มบริษัท P.C.GROUP คาดหวังว่าคู่ค้า จะมีกระบวนการแก้ไขและกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบ ที่เกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสม
  2. สนับสนุนให้คู่ค้าปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ สำหรับบริษัทคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) และมีการคัดเลือกคู่ค้าที่มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่มีคุณธรรม มีสภาพทางการเงิน ประวัติในการดำเนินธุรกิจที่น่าเชื่อถือ และมีสถานประกอบการที่สามารถตรวจสอบได้ตลอดจนสนับสนุนให้คู่ค้าเคารพและปฏิบัติตามนโยบายสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบริษัท P.C.GROUP เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
  3. ส่งเสริมให้พนักงานของคู่ค้าได้รับการอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้รับเหมา และปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติงาน และคู่มือความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด

สิทธิของลูกค้า

  1. เคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของลูกค้า โดยรักษาข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้า โดยไม่นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และ/หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้งข้อมูลทางด้านการตลาด การสั่งซื้อ และการให้บริการลูกค้า จะถูกเก็บไว้เป็นความลับ และการเข้าถึงข้อมูลสามารถเข้าถึงโดยบุคคลที่ได้รับสิทธิเท่านั้น ทั้งนี้ หากจะใช้เปิดเผย หรือถ่ายโอนข้อมูลดังกล่าวไปยังบุคคลอื่น จะต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิตามกฎหมาย และจะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูลล่วงหน้า
  2. ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการอย่างครบถ้วน ทันต่อเหตุการณ์ และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงต่อลูกค้า รวมทั้งปฏิบัติตามสัญญา ข้อตกลงหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีต่อลูกค้าอย่างโปร่งใส และเท่าเทียมกัน

สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม

  1. ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการของการดำเนินธุรกิจ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ รวมถึงการปลูกจิตสำนึกในเรื่องดังกล่าวให้กับพนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ให้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆอาทิ การดำเนินงานตามกฎหมาย มาตรฐาน ระเบียบ และแนวปฏิบัติ การสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม อย่างโปร่งใส ผ่านช่องทางต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
  2. มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนหรือสังคม โดยให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสังคม และชุมชนโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่รอบสถานประกอบการของกลุ่มบริษัท P.C.GROUP พัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และสังคมให้อยู่ดีมีสุข ควบคู่ไปกับการเติบโตของ บริษัทฯ

สิทธิทางการเมือง

สิทธิทางการเมือง คือ สิทธิในการลงคะแนนเสียง สิทธิเสรีภาพในความเชื่อทางการเมือง การนับถือศาสนา สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการชุมนุม ในการรวมตัวกันเป็นสมาคม และการดำเนินการทางการเมือง ในการตีพิมพ์ โฆษณา และการมีส่วนร่วมทางการเมือง บริษัท P.C.GROUP สนับสนุนให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน สามารถใช้สิทธิทางการเมืองของตนได้ตามครรลองของกฎหมาย ในฐานะพลเมืองดี สามารถแสดงออก เข้าร่วม สนับสนุน และใช้สิทธิทางการเมืองนอกเวลาทำงานได้ โดยใช้ทรัพยากรของตนเท่านั้นโดยยึดถือแนวปฏิบัติอ้างอิงประกาศ นโยบายการเป็นกลางทางการเมือง

การรับข้อร้องเรียน การคุ้มครองผู้ร้องเรียน และการเยียวยา

กลุ่มบริษัท P.C.GROUP เปิดโอกาสให้พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา และแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน หากมีเหตุการณ์ หรือการกระทำที่เกี่ยวข้องต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือจรรยาบรรณ ทั้งจากพนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านช่องทางรับเรื่องร้องเรียน vinita@pctakashima.com, Website, Line group และ Mobile Application, ตู้รับแสดงความคิดเห็น โดยมีการบริหารจัดการข้อร้องเรียนดังกล่าวอย่างเหมาะสม และให้ความเป็นธรรม และคุ้มครองบุคคลที่แจ้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัท P.C.GROUP โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสูงสุด กรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งได้รับการพิสูจน์ทางกฎหมายแล้วว่ากลุ่มบริษัท P.C.GROUP เป็นผู้กระทำการละเมิดจริง กลุ่มบริษัท P.C.GROUP ได้กำหนดมาตรการชดใช้เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การรักษาพยาบาล การชำระค่าเสียหาย และการติดตามดูแลผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม